|
หัวข้อ
: ป้องกันก้าวร้าว"รักลูก"ต้องไม่หวด (ไทยโพสต์)
|
ป้องกันก้าวร้าว"รักลูก"ต้องไม่หวด (ไทยโพสต์)
สุภาษิตเก่าแก่ "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" อาจไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่นี้แล้วกระมัง เพราะผลการศึกษาของฝั่งตะวันตกเตือนมาว่า การลงโทษด้วยการตีลูกนั้นกลับจะยิ่งทำให้เด็กก้าวร้าวและซึมเศร้า
การศึกษาวิจัยดังกล่าวทำการทดสอบกับครอบครัวอเมริกัน 3,870 ครอบครัวทั่วประเทศ ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ การศึกษาเสร็จสิ้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วและได้นำมาตีพิมพ์ในวารสารครอบครัวและการสมรส
"เป้าหมายการศึกษาของเราคือการสำรวจว่าการตีเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบ จะเกี่ยวโยงถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้นหรือไม่ แล้วพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้นนี้จะเกี่ยวโยงถึงพฤติกรรมที่ซึมเศร้ามากขึ้นด้วยหรือไม่" แอนเดรีย โกมอสกี ผู้ร่วมเขียนรายงานกับแคธรีน มาไกวร์-แจ็ก ลงวารสารดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ถึงผลวิจัยนี้
"งานวิจัยก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า การตีเด็กเกี่ยวโยงไปถึงพฤติกรรมแต่ละอย่างของเด็ก แต่ไม่เคยมีคนสำรวจว่าพวกมันสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร"
ทีมวิจัยชุดนี้พบว่า เด็กที่ถูกตีตั้งแต่วัยไม่ถึง 1 ขวบ เมื่อโตขึ้นถึงวัย 3 ขวบ พวกแกจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบกรีดร้อง หรือมีอารมณ์เกรี้ยวกราด และเมื่ออายุได้ 5 ขวบ ก็จะเปลี่ยนเป็นเด็กซึมเศร้าหรือขี้กังวล
เคยมีงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ที่พบว่า พ่อแม่ร้อยละ 90 มีความคิดว่าตีก้นลูกได้ไม่เป็นไร ข้อมูลของ "ธนาคารข้อมูลแนวโน้มเด็ก" พบว่าผู้หญิงร้อยละ 75 (ส่วนผู้ชายร้อย 64) เห็นด้วยว่าบางครั้งเด็กก็จำเป็นต้องถูกตีให้เจ็บ ๆ แม้ว่าสมาคมกุมารเวชศาสตร์อเมริกาและสมาคมจิตวิทยาอเมริกาจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้
และแม้จะเคยมีงานวิจัยอีกชิ้นในปี 2553 ของมหาวิทยาลัยทูเลนที่สำรวจวัยรุ่นเกือบ 2,500 คน แล้วพบว่า เด็กที่ถูกตีบ่อย ๆ เมื่ออายุ 3 ขวบ จะก้าวร้าวมากขึ้นเมื่ออายุ 5 ขวบ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ของโกรมอสกีและมาไกวร์-แจ็ก กลับพบความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนหรือห่วงโซ่ของเหตุการณ์ด้วย ไม่ใช่แค่การโยงตรง ๆ ระหว่างการถูกตีกับอาการเก็บกดซึมเศร้าเท่านั้น ซึ่งก็คือเด็กจะก้าวร้าวเมื่อวัย 3 ขวบ แต่จะซึมเศร้าเมื่อวัย 5 ขวบ
"ปรากฏว่าการตีสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวขึ้นในอนาคต และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวขึ้นนี้ก็ยังเชื่อมโยงไปสู่พฤติกรรมที่ซึมเศร้ามากขึ้นด้วย"
ผลวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์โรเบิร์ต ลาร์เซเลียร์ นักวิจัยวิธีวิทยาและสถิติจากมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมา ผู้เสนอให้ใช้การตีเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเขาเห็นด้วยว่าเด็กที่เล็กมาก ๆ ยังไม่เข้าใจวิธีลงโทษด้วยการตีว่าเกี่ยวโยงกับอะไร กระนั้นเขาได้ทำการวิจัยของเขาเองไว้เช่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับการใช้การตีเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยใช้กับเด็กอายุระหว่าง 2-6 ขวบได้ ในกรณีที่พ่อแม่พยายามใช้เหตุผลแล้วแต่ไม่สำเร็จ เมื่อถึงจุดนั้นการตีเด็ก "แบบไม่อันตราย" ยังมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
: kapook : อ.ปั้น
|
ชื่อ : อ.ปั้น
วันที่ : 2014-07-01 11:33:04 |
|
|